บาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ก่อนแข็งค่าปลายสัปดาห์ นักลงทุนจับตานโยบายจากทรัมป์ | Windows Phones-OS ชุมชนผู้ใช้งานวินโดส์โฟน

บาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ก่อนแข็งค่าปลายสัปดาห์ นักลงทุนจับตานโยบายจากทรัมป์



ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 -24 กุมภาพันธ์ 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (20/2) ที่ระดับ 35.98/35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ระดับเดียวกันกับปิดตลาดในวันศุกร์ (17/2) ในช่วงกลางสัปดาห์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.ที่ผ่านมาโดยใจความหลักระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายเห็นพ้อง ที่คณะกรรมการจำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยในไม่ช้า โดยในรายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟด 2-3 ราย ต้องการให้คณะกรรมการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ เนื่องจากตลาดแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อมีความสอดคล้อง หรือแข็งแกร่งกว่าการคาดการณ์ของเฟดในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนจากนโยบายทางการคลังของประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงเป็นสิ่งที่คณะกรรมการยังคงกังวลอยู่ ในขณะที่ระหว่างสัปดาห์มีการเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ คือ ผลสำรวจของไอเอชเอสมาร์กิต (21/2) เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 54.3 จากระดับ 55.8 ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ มาร์กิตยังเปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตปรับตัวลดลงสู่ระดับ 54.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ ในส่วนดัชนี PMI ภาคบริการปรับตัวลดลงสู่ระดับ 53.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะที่สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อวันพุธ (22/2) ยอดขายบ้านมือสองในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 3.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตาม ในวันพฤหัสบดี (23/2) มีการประกาศตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐออกมาอยู่ที่ 244,000 ราย เพิ่มสูงกว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 238,000 ราย และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 242,000 ราย นอกจากนี้นักลงทุนกำลังจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสสหรัฐ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยนักลงทุนจะจับตาการกล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับรายละเอียดของมาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการสาธารณูปโภค

สำหรับความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจไทย วันจันทร์ที่ผ่านมา (20/2) คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาสที่ 4/2559 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงเล็กน้อยเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสที่ 3/2559 โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในปี 2558 ทั้งนี้เนื่องจากการผลิตภาคเกษตรไตรมาสที่ 4/2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ในวันพุธ (22/2) นักวิเคราะห์ได้ออกมาคาดการณ์ถึงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยมองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนั้นอยู่ที่ระดับ 3.2% ถึงแม้การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ผ่านมา (4/2559) จะขยายตัวได้ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.91-35.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะแข็งค่าและปิดตลาดในวันศุกร์ (24/2) ที่ระดับ 34.91/34.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0617/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในวันจันทร์ (20/2) อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/2) ที่ระดับ 1.0642/45 โดยค่าเงินยูโรยังปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากผลสำรวจคะแนนนิยมของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส นางมารีน เลอ แปน ซึ่งเป็นผู้ที่ต่อต้านการเข้าร่วมกับอียู รวมถึงได้รับแรงกกดดันจากการที่สหภาพยุโรปได้ประกาศขีดเส้นตายต่อรัฐบาลอิตาลีในการควบคุมหนี้ในประเทศให้ต่ำลง โดยมีการคาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะของอิตาลีมีโอกาสที่จะขึ้นไปแตะระดับ 133.3% ของจีดีพี จากเดิมที่ระดับ 132.8% โดยอิตาลีมีเวลาถึงเดือนเมษายนที่จะออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้ อย่างไรก็ตามในระหว่างสัปดาห์มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัยของยูโรโซน โดยไอเอช มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อประเทศเยอรมนี (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 56.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากระดับ 54.8 ในเดือนมกราคม รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโรโซน รวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์สู่ระดับ 56.0 ทั้งนี้ในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1.0498-1.0633 ดอลลาร์สหรัฐ/ยโร ก่อนจะปิดตลาดในวันศุกร์ (24/2) ที่ระดับ 1.0589/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนนั้นเปิดตลาดในวันจันทร์ (20/2) ที่ระดับ 112.87/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/2) ที่ระดับ 112.74/78 เยน/ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามในระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนมีความเคลื่อนไหวผันผวนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินยูโร (นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ และสถานการณ์ความไม่แน่นอนในการเลือกตั้งของประเทศฝรั่งเศส รวมถึงหนี้สาธารณสะของประเทศอิตาลี) ขณะเดียวกันค่าเงินเยนยังได้รับปัจจัยกดดันจากการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น โดยวันจันทร์ (20/2) กระทรวงพาณิชย์ของญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขส่งออก ประจำเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นเพียง 1.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่เพิ่มขึ้น 5.0% ในขณะที่ตัวเลขนำเข้าปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ที่ 8.5% ส่งผลให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 1.1 พันล้านเยนในเดือนมกราคม และในวันอังคาร (21/2) สมาคมเครือข่ายร้านค้าของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดขายในซูเปอร์มาร์เก็ตของประเทศญี่ปุ่นปรับตัวลดลง 1.6% ในเดือนมกาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากยอดจำหน่ายเครื่องนุ่งห่มที่ชะลอตัวลง โดยปรับตัวลดลงถึง 9.1% อย่างไรก็ตามในวันพฤหัสบดี (23/2) ได้มีการเปิดเผยตัวเลข ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคบริการ โดยออกมาเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และสูงกว่าเดือนที่แล้วที่ระดับ 0.4%
ทั้งนี้ค่าเงินเยนมีความเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 112.42-113.70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112.48/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
Share on Google Plus

About test

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น